วัตถุดิบที่ถูกนำมาทำอาหารหลากหลายเมนู แต่คอเลสเตอรอลพุ่งเกือบ 4 เท่าของมันหมู กินบ่อย ๆ เสี่ยงสุขภาพพังหลายทาง
คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการสร้างเซลล์ ผลิตฮอร์โมน และช่วยกระบวนการย่อยอาหาร ตามข้อมูลจากสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ร่างกายจะสร้างคอเลสเตอรอลได้เองในตับ และยังได้รับเพิ่มจากอาหารที่เรากินเข้าไปด้วย
แต่หากกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเกินไป ก็เสี่ยงทำให้ไขมันในเลือดพุ่ง หรือที่เรียกว่าภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่การสะสมของคราบไขมันในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งหรือตีบแคบลง เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ความดันโลหิตสูง และหัวใจวาย
อีกหนึ่งความน่ากังวลคือ ไขมันในเลือดสูงยังเพิ่มภาระให้ตับต้องทำงานหนักขึ้นในการเผาผลาญไขมัน ส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับและตับทำงานผิดปกติ
ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ภาวะไขมันในเลือดสูงมักไม่แสดงอาการชัดเจน หลายคนไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองมีไขมันในเลือดสูง จนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงเข้าแล้ว ตามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC)
iStockphoto
มันหมู ไม่ใช่ “ราชาคอเลสเตอรอล” อย่างที่หลายคนคิด
สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) แนะนำว่าควรกินคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือถ้าเป็นผู้ที่เสี่ยงโรคหัวใจ ควรจำกัดให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน หลายคนมักคิดว่า “มันหมู” คือของต้องห้ามเพราะไขมันสูง แต่ความจริงแล้ว “ตับหมู” ต่างหากที่มีคอเลสเตอรอลสูงกว่าหลายเท่า
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ระบุว่า มันหมู 100 กรัม มีคอเลสเตอรอล 97 มิลลิกรัม แต่ถ้าเป็น ตับหมู 100 กรัม มีคอเลสเตอรอลสูงถึง 355 มิลลิกรัม หรือเกือบ 4 เท่าของมันหมูเลยทีเดียว ซึ่งหมายความว่า แค่กินตับหมูเพียง 100 กรัม ก็ได้รับคอเลสเตอรอลเกินกว่าปริมาณที่ AHA แนะนำต่อวันแล้ว
ข้อควรรู้ก่อนกินตับหมู
ตับหมู เป็นวัตถุดิบยอดนิยมทั้งในอาหารไทยและหลายประเทศในเอเชีย มักนำมาผัด ตุ๋น ย่าง หลากหลายเมนูที่หลายคนชอบ
ความจริงแล้ว ตับหมูถือเป็นอาหารที่อุดมด้วยสารอาหาร โดยข้อมูลจาก WebMD ระบุว่า ตับหมูมีโปรตีนสูง และอัดแน่นด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลากหลาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 12 วิตามินบี 2 โฟเลต ธาตุเหล็กชนิดที่ร่างกายดูดซึมได้ดี (Heme Iron) สังกะสี และทองแดง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การกินตับหมูมากเกินไป นอกจากจะทำให้คอเลสเตอรอลพุ่งสูงแล้ว ยังเสี่ยง วิตามินเอสะสมเกิน ซึ่งอาจทำลายตับ กระดูก และเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ได้เช่นกัน ตามคำเตือนจาก WebMD
นอกจากนี้ ตับยังเป็นอวัยวะที่สะสมสารพิษต่างๆ ไว้มาก และมักเป็นแหล่งอาศัยของพยาธิใบไม้ในตับอีกด้วย หากเป็นตับของหมูที่มีโรคตับอักเสบหรือมะเร็ง ตับอาจมีเชื้อไวรัสและสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสูง
ดังนั้นหากจะกินตับหมู ควรกินแต่พอดี และเลือกซื้อตับที่สดใหม่ มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารอย่างชัดเจน